สร้างเมื่อ 2018-05-21 20:19:26
เมื่อก่อนที่จะมีรถยนต์ เราใช้ม้าหรือรถม้าวิ่งสัญจรกันฝุ่นตลบ ต้องคอยใช้น้ำราดถนน บางทีก็ใช้ส่าน้ำตาลหรือน้ำมันเตาที่เหนียวมาราดบนถนนดินหรือลูกรัง เพื่อมิให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย มาถึงยุคใช้รถยนต์ที่วิ่งได้เร็วกว่า จึงมีการก่อสร้างถนนลาดยางโดยใช้แอสฟัลท์ราดบนหินที่อัดตัวกันแน่น เพื่อให้มีความแข็งแรงและไร้ฝุ่น จึงเป็นที่มาของคำว่าถนนราดยาง ต่อมาวิธีการก่อสร้างผิวทางเปลี่ยนมาเป็นการปูลาดผิวทางด้วยวัสดุแอสฟัลท์คอนกรีต จึงเรียกกันว่าถนนลาดยาง จริงเท็จประการใดคงต้องให้ผู้รู้ภาษาไทยดีมายืนยันอีกทีหนึ่ง
ยางแอสฟัลท์ (asphalt) หรือ ไบน์เดอร์ (binder) เป็นศัพท์ที่ชาวอเมริกันใช้เรียกยางมะตอย แต่ชาวอังกฤษจะเรียกว่า บิทูเมน (bitumen) เป็นวัสดุที่เกิดในธรรมชาติและเป็นผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมัน มีแหล่งกำเนิดจาก 3 แหล่งใหญ่ๆ คือ ในธรรมชาติเป็นหินแอสฟัลท์ (rock asphalt) ที่นำมาเผาเอาแอสฟัลท์ออกมาจากแหล่งใต้ดินที่เป็นบ่อแอสฟัลท์อยู่ลึกลงไปในดิน lake asphalt มีมากใน Trinidad ในสหราชอาณาจักรอังกฤษ และจากการกลั่นน้ำมันดิบ หลังจากกลั่นเอาเบนซินและดีเซลออกไปที่เหลืออยู่เป็นยางแอสฟัลท์แข็ง (asphalt cement, AC.) ที่มีความเข้มข้นและแข็ง ต่างกันไปตามสภาพของแหล่ง
ยางแอสฟัลท์ที่ใช้ทำผิวทางในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. แอสฟัลท์ซีเมนต์ AC. เป็นยางที่ได้จากหินแอสฟัลท์ธรรมชาติ หรือผลพลอยได้จากการกลั่นน้ำมัน มีลักษณะแข็งและเหนียว ยางนี้ยังแบ่งซอยออกเป็นชนิดต่างๆ ตามความแข็งซึ่งวัดเป็นค่า penetration grade, pen. การวัดค่า pen. นี้ ทำโดยเอาตัวอย่างยางใส่ลงในกระป๋องเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 5 ซม. สูง 3-5 ซม. แช่ในน้ำที่มีอุณหภูมิคงที่ 25o c แล้วใช้เข็มที่ติดตั้งบนแท่นกดลงบนผิวยาง ในช่วงเวลาหนึ่งเข็มจมลงไปเท่าไรก็เป็นค่า pen ของยางนั้น โดยจะมีค่าตั้งแต่ 10 ถึง 120 pen. ตัวเลขน้อยแสดงว่ายางยิ่งแข็งมาก จะหลอมละลายด้วยความร้อนได้ช้ากว่า เวลาใช้งานทำผิวทางต้องนำไปให้ความร้อนเพื่อหลอมละลายเป็นของเหลวก่อน
2. ยางคัตแบกแอสฟัลท์ (cut back) เป็นยางเหลวที่อุณหภูมิปกติที่ได้จากการใช้ยาง AC ผสมกับสารทำละลาย เพื่อให้ยางแข็ง AC นั้นเหลวอ่อนลง เพื่อให้สะดวกในการใช้งาน ไม่ต้องให้ความร้อนสูงมาก แบ่งออกเป็นชนิดใหญ่ๆได้ 3 กลุ่ม คือ
1.1 rapid curing, RC. เป็นยางเหลวที่ผสมยาง AC กับสารตัวทำละลายที่เป็นน้ำมันเบนซิน เมื่อนำไปใช้งาน น้ำมันเบนซินจะระเหยออกไปได้เร็ว เหลือแต่ยางแข็ง AC จับอยู่บนหินผิวทาง ยางชนิดนี้ยังแบ่งออกเป็นเกรดต่างๆ ตามความหนืดเหนียวของมัน เช่น RC0 , RC1 ถึง RC5 ตัวเลขยิ่งมากความเหนียวหนืดก็มีมาก จะระเหยได้ช้ากว่า บางทีการแบ่งเกรดใช้ตามระบบการวัดความหนืดเป็น RC1000 หรือ RC2000 ซึ่งก็มีความหมายคล้ายๆ กัน
1.2 medium curing, MC. เป็นยางเหลวที่ผสมยาง AC กับสารตัวทำละลายพวกน้ำมันก๊าซ ซึ่งการระเหยตัวของ สารทำละลายนี้จะช้ากว่าเบนซิน เหมาะกับงานผิวทางบางชนิดที่ไม่ต้องการให้มันระเหยตัวเร็วเกินไป เช่น งานไพร์มโค้ดที่ต้องการทิ้งระยะเวลาให้น้ำยางซึมลงไปตามร่องช่องว่างของชั้นหินพื้นทางเพื่อเป็นรากยึดเกาะผิวทางกับชั้นพื้นทาง มีการแบ่งเกรดต่างๆ เช่นเดียวกับพวก RC
1.3 slow curing, SC. เป็นยางเหลวที่ผสมยาง AC กับสารตัวทำละลายพวกน้ำมันดีเซล ซึ่งการระเหยตัวยิ่งช้ามากกว่าสองตัวแรก